ทำแบบประเมิน >> คลิกที่นี่ <<
ปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต >> โทร 1323 <<
บทนำ
ดัชนีชี้วัดความสุขคนไทย เป็นแบบประเมินความสุขด้วยตนเอง ซึ่งสร้างขึ้นภายใต้กรอบ แนวคิดคำจำกัดความของความสุข หมายถึง สภาพชีวิตที่เป็นสุข อันเป็นผลจากการมีความสามารถในการจัดการปัญหาในการดำเนินชีวิต มีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเองเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี โดยครอบ-คลุมถึงความดีงามภายในจิตใจ ภายใต้สภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป
คุณสมบัติของเครื่องมือ
- เนื่องจากเครื่องมือนี้สร้างขึ้นโดยใช้กลุ่มคนเป็นมาตรฐาน (Normative model) ในการกำหนดเกณฑ์ปกติ (norm) เพราะยังไม่มีการตรวจมาตรฐาน (gold standard) ใด ๆ ที่สามารถตรวจวินิจฉัยได้ว่าบุคคลใดมีความสุขมากน้อยเพียงใด
- การศึกษาความตรงตามเนื้อหา (content validity)โดยการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง และประชุมร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านสุขภาพจิต เพื่อพิจารณาความตรงตามเนื้อหาที่ต้องการประเมิน จำนวน 10 ครั้ง
- การศึกษาความตรงตามโครงสร้าง (construct validity) ศึกษาความตรงตามโครงสร้างโดยการวิเคราะห์ปัจจัย (factor analysis) และพิจารณาลดข้อคำถามโดยคัดเลือกเฉพาะข้อคำถามที่มีค่า factor loading ตั้งแต่ 0.40 ขึ้นไป (ยกเว้นข้อคำถามที่ผู้ทรงคุณวุฒิลงความเห็นว่าจำเป็นต้องมี ข้อนี้ ค่า factor loading อาจต่ำกว่า 0.40) โดยทำการศึกษาความตรงเชิงโครงสร้างถึง 2 ครั้งในการศึกษานี้ โดยลดข้อคำถามจาก 157 ข้อเหลือเพียง 85 ข้อ ในครั้งที่ 1 และจาก 85 ข้อ เหลือเพียง 66 ข้อ (ฉบับสมบูรณ์) และ 15 ข้อ (ฉบับสั้น) ในครั้งที่ 2
- การศึกษาความตรงร่วมสมัย (concurrent validity) ในการศึกษาครั้งนี้ ได้ทำการศึกษาความตรงร่วมสมัยโดยใช้ ดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตของอัมพร โอตระกูล และคณะ จำนวน 12 ข้อ ทำการศึกษาควบคู่กันไปในช่วงเวลาเดียวกัน ผลการศึกษาพบว่า ดัชนีชี้วัดความสุขคนไทย 15 ข้อ กับดัชนีชี้วัด สุขภาพจิตของอัมพร โอตระกูล และคณะมีความสัมพันธ์กันในระดับปานกลาง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์อันดับของสเปียร์แมน (Spearman’s correlation coefficient) เท่ากับ 0.49
- การศึกษาค่าความเชื่อมั่นของเครื่องมือ (reliability) โดยมีค่า cronbach’s alpha coefficient เท่ากับ 0.70
วัตถุประสงค์
เพื่อประเมินภาวะความสุขของคนไทยในประชาชนทั่วไป ซึ่งจะเป็นแนวทางในการดูแล สุขภาพจิตตนเอง เมื่อผลของแบบประเมินพบว่าอยู่ในกลุ่มที่มีภาวะความสุขต่ำกว่าคนทั่วไป
วิธีการนำไปใช้
ดัชนีชี้วัดความสุขคนไทยนี้ สามารถนำไปใช้กับ
- ผู้ที่อยู่ในวัย 15-60 ปี โดยไม่จำกัดเพศ
- สามารถอ่านออก เขียนได้ ในกรณีที่ไม่สามารถอ่านด้วยตนเองได้ อาจใช้วิธีให้บุคคลอื่นอ่านให้ฟัง และผู้ตอบแบบประเมินเป็นผู้เลือกคำตอบด้วยตนเอง
- สามารถนำไปใช้ประเมินระดับความสุขของกลุ่มคนในหน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ หรือคนในชุมชนในช่วงเวลาที่ต่างกัน เพื่อดูระดับความสุขของกลุ่มคนนั้น ๆ เป็นการเฝ้าระวังภาวะสุขภาพจิตขององค์กรนั้นในอีกรูปแบบหนึ่ง โดยควรใช้ประเมินในระดับกลุ่มคนปีละ 1 – 2 ครั้ง
- ในการนำดัชนีชี้วัดความสุขคนไทยไปใช้เพื่อประเมินซ้ำ ว่าตนเองมีระดับความสุข เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่ อย่างเร็วควรประเมินซ้ำอีก 1 เดือน
การแปลผล
เมื่อท่านรวมคะแนนทุกข้อรวมกันได้คะแนนเท่าไร ท่านสามารถเปรียบเทียบกับเกณฑ์ปกติที่กำหนดดังนี้
คะแนน 33-45 คะแนน หมายถึง มีความสุขมากกว่าคนทั่วไป (Good)
คะแนน 27-32 คะแนน หมายถึง มีความสุขเท่ากับคนทั่วไป (Fair)
คะแนน น้อยกว่า หรือเท่ากับ 26 คะแนน หมายถึงมีความสุขน้อยกว่าคนทั่วไป (Poor)
ในกรณีที่ท่านมีคะแนนอยู่ในกลุ่มมีความสุขน้อยกว่าคนทั่วไป ท่านอาจช่วยเหลือตนเองเบื้องต้นโดยขอรับบริการการปรึกษาจากสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านของท่านได้
ข้อจำกัดในการนำไปใช้
- เป็นแบบประเมินฉบับสั้น เหมาะสำหรับการประเมินที่ต้องการใช้เวลาไม่มากนัก แต่หากต้องการการประเมินที่มีรายละเอียดมากกว่านี้ สามารถศึกษาโดยใช้ดัชนีชี้วัดความสุขคนไทยฉบับสมบูรณ์ 66 ข้อได้ (หรือดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตคนไทย) สำหรับแบบประเมินนี้ เป็นแบบประเมินที่ผ่านการศึกษาในขั้นตอนที่สมบูรณ์และเผยแพร่ในระดับประเทศแล้ว
- แบบประเมินนี้หากผู้ตอบ ตอบตรงกับความจริงของตนเองโดยไม่มีอคติจะได้ผลการประเมินที่สอดคล้องกับความเป็นจริง